มานุษยวิทยาดนตรี (Ethnomusicology) เป็นการศึกษาดนตรีในเชิงวิชาการ เพื่อทำความเข้าใจดนตรีในบริบททางวัฒนธรรมที่ต่างกัน ซึ่งมีพัฒนาการมาจากดนตรีวิทยาเปรียบเทียบ (Comparative Musicology) ในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ การศึกษาด้านนี้ในช่วงแรกนั้นเกิดจากความต้องการศึกษาดนตรี “ของคนอื่น” โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่เริ่มสนใจศึกษาดนตรีในกลุ่มประเทศอาณานิคม ซึ่งในช่วงแรกนั้นยังแฝงไปด้วยแนวคิดเหยียดชนชาติอื่นอยู่บ้าง ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อเป็นมานุษยวิทยาดนตรี(Ethnomusicology) ตลอดจนใช้วิธีการทางชาติพันธุ์วรรณา (Ethnomusicology) ในการศึกษาดนตรี มีพัฒนาการในการทำความเข้าใจและเคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากขึ้น ช่วงแรกนั้นเน้นหนักไปที่การศึกษาภาคสนาม (fieldwork) เพื่อทำความเข้าในดนตรีในวัฒนธรรมต่าง ๆ ต่อมาจึงมีการขยายนิยามความหมาย และมีการบูรณาการวิธีการศึกษาในด้านอื่น ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะวิธีการทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา จึงทำให้การศึกษาดนตรีมิได้มีเฉพาะเพียงแค่เสียงเพลงและโน้ตเท่านั้น แต่ขยับขยายไปสู่ประเด็นทางสังคม ปัจจัยที่ส่งผลต่อตัวดนตรี ตลอดจนการวิเคราะห์เชิงสัญญะมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
แม้ว่าในประเทศไทย จะมีการศึกษาด้านมานุษยวิทยาดนตรีอย่างจริงจังนับตั้งแต่การเปิดหลักสูตรปริญญาโทสาขาวัฒนธรรมดนตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ แต่ก่อนหน้านั้น มีนักวิชาการชาวต่างประเทศหลายท่านได้เข้ามาศึกษาดนตรีในประเทศไทย เช่น ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตัน (David Morton) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ซึ่งเข้ามาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง “The traditional instrumental music of Thailand” จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ และอาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) ซึ่งเข้ามาสอนดนตรีศาสนาที่วิทยาลัยพระคริสตธรรมแมคกิลวารี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๔ ระหว่างนั้นได้ศึกษาดนตรีล้านนาด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยาดนตรี ตลอดจนมีงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับดนตรีล้านนาตีพิมพ์เผยแพร่อีกจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น การศึกษาดนตรีอย่างเป็นวิชาการในประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเริ่มต้น งานเขียนของชาวต่างชาติเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางดนตรีของประเทศไทย และเป็นหมุดหมายสำคัญในการศึกษาต่อยอดทางดนตรีจวบจนปัจจุบัน
บทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติและผลงานของอาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ ตลอดจนบริบทที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาดนตรีล้านนาของเขาในช่วงเวลานั้น โดยศึกษาจากเอกสารและการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจแนวคิดและการทำงานด้านมานุษยวิทยาดนตรีของเขาต่อไป
ชีวิตช่วงแรก
เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) เป็นชาวอเมริกัน เกิดที่เมืองนิวตัน รัฐแคนซัสเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ มีบิดาเป็นศิษยาภิบาล เป็นน้องคนสุดท้องในจำนวน ๓ คน ซึ่งได้ซึมซับดนตรีตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะการที่บิดาเล่นดนตรีได้และสอนการขับร้องประสานเสียงให้กับสมาชิกในครอบครัว ไดค์เริ่มต้นการเรียนที่ Berean Academy ซึ่งโรงเรียนสอนศาสนาจนจบเกรด ๑๒ และศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาดนตรีที่วิทยาลัยเบเธ็ล (Bethel College) ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการขับร้อง การอำนวยเพลงวงประสานเสียง ทักษะคีย์บอร์ด การประพันธ์และประวัติศาสตร์ดนตรี จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกกฎบังคับใช้ให้วัยรุ่นชายต้องเป็นทหารอันเนื่องมาจากเป็นช่วงสงครามเย็น มีการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและลัทธิคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะเป็นช่วงเดียวกับที่เกิดสงครามเวียดนาม ไดค์ได้ยื่นเรื่องกับคณะกรรมการกลางเมนโนไนท์ (Mennonite Central Committee) ซึ่งเป็นองค์กรสันติภาพเพราะมีความประสงค์ที่จะเป็นอาสาสมัครภาคพลเรือน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวได้พิจารณาส่งไดค์ไปเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลชุมชนที่เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล อย่างไรก็ตาม ฟาร์มสัมพันธกิจ จ.เชียงราย ได้ร้องขอครูดนตรีและช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลต่อคณะกรรมการ จึงทำให้ไดค์ได้ถูกรับเลือกให้เดินทางไปเป็นครูดนตรีอาสาสมัครที่จังหวัดเชียงราย เนื่องจากมีวุฒิการศึกษาทางดนตรีโดยตรง พร้อมกับบ็อบ ชาค (Bob Shaak) เพื่อนที่เป็นช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลอีกคนหนึ่ง
ไดค์ออกเดินทางจากเมืองซานฟรานซิสโกมายังประเทศไทยด้วยเรือยูเอสเอส โอไฮโอ (U.S.S Ohio) โดยใช้เวลาเดินทาง ๑ เดือน และได้เข้าทำงานอาสาสมัครในฐานะครูดนตรีที่ฟาร์มสัมพันธกิจ จ.เชียงรายในปีเดียวกันนั้นเอง โดยรับผิดชอบสอนในสามรายวิชา คือ ภาษาอังกฤษ ดนตรี และบาสเก็ตบอล โดยเฉพาะวิชาดนตรีนั้น เขาได้สอนการขับร้องประสานเสียงแก่นักเรียน เนื่องจากเครื่องดนตรีสากลยังคงเป็นที่หายากในขณะนั้น นอกจากนี้ คณะนักร้องประสานเสียงของโรงเรียนยังได้แสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายอีกด้วย
ไดค์เป็นชาวต่างประเทศที่ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมล้านนาได้อย่างดี เขาสามารถพูดภาษาไทยและภาษาล้านนาได้ ด้วยความสามารถทางภาษานี้เองที่ทำให้ไดค์ได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับพ่อครูอินทร์หล่อและแม่ครูพลอยสี สรรพศรี อดีตนักดนตรีและช่างฟ้อนในวังพระราชชายา เจ้าดารารัศมี และคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ ในช่วงที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายนี้เอง โดยเริ่มฝึกหัดซอด้วงเพลงสารถีเป็นเพลงแรก เขาเริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับดนตรีไทยและดนตรีล้านนามากขึ้นเป็นลำดับแต่ยังไม่ได้ศึกษาแบบจริงจังมากนัก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ไดค์เดินทางกลับอเมริกาเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโททางดนตรีศาสนาที่ Union Theological Seminary ในนิวยอร์ก ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
การเรียนที่ Union Theological Seminary สามารถลงทะเบียนเรียนบางรายวิชาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้อีกด้วย นั้นจึงทำให้ไดค์ที่สนใจดนตรีต่างวัฒนธรรม ลงทะเบียนเรียนวิชา “Ethnomusicology: Technique for Studying World Music in its Social Setting” หรือ “มานุษยวิทยาดนตรี: เทคนิคสำหรับการศึกษาดนตรีโลกในแต่ละลักษณะทางสังคม” ซึ่งทำให้ไดค์ได้เรียนรู้ความหมายของมานุษยวิทยาดนตรีระเบียบวิธีวิจัย ตลอดจนการศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีงานชิ้นหนึ่งที่ไดค์ได้เริ่มวาดภาพซอด้วง อธิบายลักษณะทางกายภาพของเครื่องดนตรี อธิบายระบบเสียง ตลอดจนร่างเค้าโครงเพลง อันเป็นหลักการของวิชาเครื่องดนตรีวิทยา (Organology) หนังสือด้านมานุษยวิทยาดนตรีเล่มแรก ๆ ที่ไดค์ใช้เรียนในขณะนั้น ได้แก่ Music in Primitive Culture ของ Bruno Nettl หนังสือ Ethno-Musicology ของ Japp Kunst ตลอดจน The Ethnomusicologist ของ Mantle Hood และนี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ไดค์มีความรู้อย่างเป็นระบบในการศึกษาดนตรีในแต่ละวัฒนธรรม
หลังจากสำเร็จการศึกษา ไดค์ได้งานที่วิทยาลัยพระคริสตธรรมในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ (ก่อนการก่อตั้งมหาวิทยาลัยพายัพ) ด้วยความเข้าใจในวัฒนธรรมที่มากยิ่งขึ้น ประกอบกับได้วิธีการศึกษาด้านมานุษยวิทยาดนตรีอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะเดินทางมายังประเทศไทพร้อมกับครอบครัวนั้น ไดค์พยายามค้นหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับดนตรีของไทย (ในอเมริกา) และพบว่ามีเพียงเล่มเดียว นั่นคือ The Traditional Music of Thailand ซึ่งเขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตัน (David Morton) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส นั่นทำให้ไดค์เขียนจดหมายเพื่อขอพบ ดร.เดวิด มอร์ตัน โดย ดร.เดวิดได้ตอบรับและเชิญให้มาพบปะที่มหาวิทยาลัย ทำให้หนึ่งเดือนก่อนเดินทางมายังประเทศไทย ไดค์ได้ศึกษาเรียนรู้วิชามานุษยวิทยาดนตรีจาก ดร.เดวิด มอร์ตันเป็นจำนวนมาก ตลอดจนวิธีการวัดเสียง (tuning) ของดนตรีต่างวัฒนธรรม โดย ดร.เดวิด มอร์ตัน ได้มอบโมโนคอร์ด (monochord) ให้กับไดค์ด้วย
เจอรัลด์ ไดค์ กับดนตรีล้านนา
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ขณะอายุ ๒๘ ปี ไดค์เดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับตำแหน่งอาจารย์วิชาดนตรีที่วิทยาลัยศาสนศาสตร์แห่งประเทศไทย (วิทยาลัยพระคริสต์ธรรม) โดยรับผิดชอบสอนในวิชาขับร้องและออร์แกน ซึ่งขณะนั้นหลักสูตรเป็นประกาศนียบัตรดนตรีศาสนา ไดค์ได้เริ่มต้นวางรากฐานทางดนตรีสากลให้กับที่นี่ ซึ่งภายหลังได้พัฒนาจนเป็นวิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพในปัจจุบัน
จากการที่ไดค์ได้เรียนวิชามานุษยวิทยาดนตรีอันเป็นวิชาที่ว่าด้วยความเข้าใจดนตรีในแต่ละวัฒนธรรม ครั้นเมื่ออยู่เชียงใหม่ ไดค์จึงได้ริเริ่มการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านมาใช้บรรเลงประกอบเพลงนมัสการ ได้จัดซื้อเครื่องปี่พาทย์พื้นเมืองจากนายน้อย นาคำปัน มาใช้บรรเลงในประกอบการขับร้อง ตลอดจนได้เรียบเรียงเสียงประสานด้วย ซึ่งนั่นทำให้ชาวเชียงใหม่ที่นับถือคริสต์ศาสนาชื่นชอบ เพราะเข้าถึงได้ง่ายและคุ้นเคยกับเครื่องดนตรีเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความขุ่นเคืองให้กับกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนสายอนุรักษ์นิยมอีกด้วย
ขณะที่ไดค์สอนที่วิทยาลัยพระคริสตธรรม ในช่วงเวลาว่าง เขาลงพื้นที่เพื่อศึกษาดนตรีล้านนาโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนโดยวิธีการทางมานุษยวิทยาดนตรีเขาสอบถามชาวบ้านเกี่ยวกับนักดนตรี วงดนตรี เมื่อทราบแล้ว เขาจะเดินทางไปแนะนำตัว ขอสัมภาษณ์ ตลอดจนขออนุญาตในการบันทึกเสียง โดยใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยในยุคนั้น คือ เครื่องบันทึกเทป กล้องถ่ายภาพ ตลอดจนจดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล เครื่องดนตรี วงดนตรี
ดังตัวอย่างบันทึกสนามชิ้นแรกของไดค์ ที่ได้บันทึกเสียงครั้งแรกในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ณ วัดเชียงมั่น บรรเลงโดยวงปี่พาทย์พื้นเมืองของครูรอด อักษรทับ ลูกศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาภาคสนามดนตรีล้านนา นำไปสู่การบันทึกเสียงจำนวนกว่า ๑๕๒ เทปรีล ตลอดช่วงเวลา ๔ ปี
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ไดค์และ ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตันได้พบกันอีกครั้ง เมื่อ ดร.เดวิดเดินทางมาประเทศไทยเพื่อบันทึกเสียงที่โรงเรียนดนตรีของอาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลงในกรุงเทพฯ และได้เดินทางมาถึงเชียงใหม่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ในขณะที่อายุ ๗๖ ปี (แต่ยังดูหนุ่มแน่นมาก) ดร.เดวิด มอร์ตันและไดค์ได้ร่วมกันถ่ายทำวีดีโอดนตรีล้านนาในขณะนั้น ได้แก่ วงเต่งถิ้ง (ปี่พาทย์ล้านนา) วงกลองตึ่งโนง วงกลองปู่เจ่ พ่อครูต๋าคำดีดซึงและสีสะล้อ ฟ้อนดาบและกลองสะบัดไชยโดยพ่อครูคำ กาไวย์ วงกลองหลวงและวงกลองมองเซิง และสุดท้ายคือดีดพิณเปี๊ยะสองคนเพลงจกไหล โดยลุงบุญและลุงสุข บ้านแป้น จังหวัดลำพูน
วีดีโอดังกล่าว พ่อครูจริยะได้จัดทำเป็นสารคดีในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หลังจากกลับสหรัฐอเมริกาและได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ณ มหาวิทยาลัยบลัฟตัน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา และจัดส่งไปให้ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตันที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส โชคร้ายที่ได้สูญหายไป อีกทั้ง ดร.เดวิดเกษียณและย้ายไปอยู่เมืองทัคสัน รัฐแอริโซนา เทปดังกล่าวจึงสูญหายและไม่มีผู้ใดพบเจออีก จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๖ (สามสิบปีให้หลัง) เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุมานุษยวิทยาดนตรีแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิสได้ค้นพบ จึงนำไปสู่การเผยแพร่วีดีโอดังกล่าวในปัจจุบัน
ในช่วงที่ไดค์ศึกษาดนตรีล้านนานี้เอง เขาได้พบปะกับนักดนตรีหลายคนที่กลายเป็นตำนานดนตรีล้านนาในปัจจุบัน เช่น ลุงต๋าคำ นายตั๋น เขียวสวัสดิ์ นักดีดพิณเปี๊ยะชาวบ้านแป้น จังหวัดลำพูน พ่อครูอำนวย กลำพัด พ่อครูอินรัตน์ มูลชัยลังการ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับเชิญจากสยามสมาคมให้ไปบรรยายเรื่องดนตรีล้านนาในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ และเริ่มเขียนบทความวิชาการดนตรีโดยเฉพาะด้านดนตรีล้านนา เรื่อง “They Also Serve” ในนิตยสารสวัสดี ตลอดจนศึกษาดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีขอทาน ดนตรีชาวเขา รวมถึงศึกษาภาษาและวรรณกรรมล้านนาอย่างการขับซอ การอ่านกะโลง (โคลง) เจี้ยก้อม (นิทานตลกขบขัน) ซึ่งแหล่งข้อมูลที่ไดค์ศึกษาด้านคติชนวิทยาหลายแหล่งได้รับการช่วยเหลือจากอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ อีกด้วย
ไดค์ลาออกจากการเป็นอาจารย์ดนตรีที่วิทยาลัยพระคริสตธรรมในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และเดินทางไปศึกษาวิชาดนตรีศึกษาจากโรงเรียนของคาร์ล ออร์ฟ (Carl Orff) ที่ประเทศออสเตรีย เมื่อสำเร็จการศึกษา ไดค์ได้ทำงานที่มหาวิทยาลัยบลัฟตัน รัฐโอไฮโอ ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์สาขาดนตรี ที่นี่ ไดค์ได้เริ่มต้นสอนวิชาดนตรีอุษาคเนย์ขึ้น โดยใช้เครื่องดนตรีที่ไดค์ซื้อมาจากประเทศไทย ก่อตั้งวงสะล้อ ซึง วงปี่พาทย์ โดยนักศึกษาอเมริกันที่นี่สามารถบรรเลงเพลงพื้นบ้านล้านนาได้หลายเพลง
ในช่วงนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตัน ได้ชักชวนไดค์ให้เขียนบทความเกี่ยวกับดนตรีล้านนา และได้ตีพิมพ์ใน “Selected Report in Ethnomusicology” ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลลิส (UCLA) โดยตีพิมพ์บทความในงานศึกษาชุดวัฒนธรรมดนตรีอุษาคเนย์ถึงสามเรื่องในปี พ.ศ. ๒๕๑๘
คือ “Loong Noi Na Kampan Makes a Drumhead for a Northern Thai Long Drum” บทความชิ้นนี้กล่าวถึงกระบวนการสร้างกลองของชาวล้านนาและภูมิปัญญาการเปลี่ยนหน้ากลอง โดยศึกษาจากสล่า (ช่าง) กลองที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นคือ นายน้อย นาคำปัน บทความที่สอง คือ “They Also Serve” เป็นบทความทางดนตรีที่กล่าวถึงนักดนตรีพิการในภาคเหนือ สภาพการดำรงชีวิตและความยอมรับในสังคม ตลอดจนรูปแบบการเรียนดนตรีของนักดนตรีพิการเหล่านั้น และบทความสุดท้ายคือ “The Vanishing Phia: An Ethnomusicological Photo-Story” เป็นบทความสำคัญอีกบทความหนึ่งที่กล่าวถึงพิณเปี๊ยะซึ่งเป็นเครื่องดนตรีล้านนาโบราณที่กำลังจะสูญหายไปและขาดคนสืบทอด เขาได้ศึกษาวิธีบรรเลง ประวัติและพัฒนาการตลอดจนลักษณะทางกายภาพของเปี๊ยะโดยสังเขป หลังจากที่ตีพิมพ์บทความนี้ทำให้นักวิชาการดนตรีในภาคเหนือตื่นตัวและเกรงว่าพิณเปี๊ยะกำลังจะสูญหายไปจากล้านนา จึงได้ออกสำรวจและศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้พิณเปี๊ยะได้รับการศึกษาและสืบทอดจนถึงปัจจุบันอย่างแพร่หลาย
และที่มหาวิทยาลัยบลัฟตันนี้เอง ที่ทำให้ไดค์ได้พบกับ ศาสตราจารย์ ดร.เทอรี่ มิลเลอร์ (Terry E. Miller) ซึ่งเพิ่งจะมารับตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเค้นท์สเตท นำไปสู่การพบปะแลกเปลี่ยนและร่วมมือทางด้านวิชาการจวบจนปัจจุบัน
ไดค์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยบลัฟตันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นเขารับตำแหน่งครูสอนดนตรีมัธยมที่เมืองแมสซาชูเสตส์ จนเกษียณอายุ ภายหลังเขาได้รับเชิญเป็นอาจารย์ตลอดจนวิทยากรพิเศษด้านดนตรีอุษาคเนย์ในหลายมหาวิทยาลัย เช่นที่มหาวิทยาลัยแมสซาซูเสตส์ (University of Massachusetts Darthmouth) ทั้งนี้ ไดค์ยังคงรักษางานศึกษาทางดนตรีล้านนาของเขาไว้เป็นอย่างดี ทั้งเทป เอกสาร วีดีโอ ตลอดจนอื่น ๆ อย่างเครื่องดนตรีล้านนาบางส่วน หลังจากเกษียณจากโรงเรียนมัธยมแล้ว เขาได้นำข้อมูลต่าง ๆ ที่ศึกษาดนตรีล้านนาทั้งหมดมาจัดกระทำใหม่ โดยเทปและวีดีโอต่าง ๆ ได้นำไปแปลงและจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลที่ Archive of Traditional Music มหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University Bloomington) โดยมีไฟล์เสียงดนตรีล้านนาและเทปสัมภาษณ์ที่เขาบันทึกไว้ถึง ๑,๔๒๘ ไฟล์ และภาพอีกจำนวนกว่า ๕๕๕ ภาพ ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากมหาวิทยาลัยอินเดียนาและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เขาได้นำข้อมูลดนตรีล้านนาภาคสนามและดนตรีชาวเขาที่เขาศึกษามาตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ Musical Journeys in Northern Thailand ซึ่งมีทั้งงานบันทึกภาคสนาม บทเพลงต่างๆ ในยุคนั้นและภาพประกอบที่หาได้ยาก
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ไดค์มีอายุ ๗๗ ปี อาศัยอยู่กับภรรยาที่เมืองแอซโซเน็ท รัฐแมสซาชูเสตส์ เครื่องดนตรีล้านนาบางส่วนที่เขาซื้อมาจากประเทศไทย ได้บริจาคให้กับสำนักวิชาดนตรี มหาวิทยาลัยเค้นท์สเตท เพื่อใช้ในการเรียนการสอนต่อไป และยังคงมีเครื่องดนตรีล้านนาอีกหลายชิ้นที่บ้านของเขา นอกจากนี้ เขายังคงทำงานเกี่ยวกับดนตรีล้านนา ทั้งด้านข้อมูลเสียง และงานนำเสนอเกี่ยวกับประสบการณ์ทางดนตรีอันทรงคุณค่าของเขา
เจอรัลด์ ไดค์ ได้มอบข้อมูลดนตรีล้านนาคืนสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยมีผู้เขียนเดินทางไปรับมอบ และจัดทำเป็น “หอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาเจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck Ethnomusicology Archive of Lanna Music)” สามารถเข้าถึงได้จาก www.music.cmru.ac.th/archive
คำว่า “ปิ๊กบ้าน” หมายถึง กลับบ้าน ดังนั้น “ดนตรีล้านนาปิ๊กบ้าน” จึงหมายถึง ดนตรีล้านนาเมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน ทั้งเสียงบันทึก ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว และเอกสารต่าง ๆ ได้เดินทางกลับบ้าน จากความตั้งใจของไดค์ที่ต้องการให้ข้อมูลของเขานั้น ได้กลับมาใช้ประโยชน์ในเมืองไทย โดยเฉพาะเขาได้กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ของเขา หากแต่เป็นของคนไทย เขามีหน้าที่แค่บันทึกและบอกเล่าเรื่องราวเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่การเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาของผู้เขียน ซึ่งติดต่อกับไดค์ก่อนหน้านี้ยาวนานถึง ๖ ปีทางอีเมลล์และ Skype เพื่อจัดตั้งหอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาออนไลน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลดนตรีล้านนา ทั้งเสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และอื่นๆ เพื่อให้บริการทางวิชาการด้านมานุษยวิทยาดนตรี (Ethnomusicology) แก่นักวิชาการ นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไป ในรูปแบบฐานข้อมูลออนไลน์ (online database) โดยมุ่งหวังเพื่อให้สังคมวิชาการดนตรีในประเทศไทย โดยเฉพาะดนตรีล้านนามีการศึกษาอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นทั้งด้านวิชาการตลอดจนใช้เป็นวัตถุดิบ (material) สำหรับการวิจัยและสร้างสรรค์ทางดนตรีในอนาคต
หอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาออนไลน์ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ อาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) อดีตรองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยบลัฟตัน (Bluffton University) รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยศาสนศาสตร์แมคกิลวารี (Thailand Theological Seminary) ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยหนึ่งของมหาวิทยาลัยพายัพ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๔ ในช่วงเวลานั้น ได้ทำการศึกษาภาคสนามดนตรีล้านนา บันทึกทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ตลอดจนบันทึกเสียงดนตรีล้านนาเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นนักมานุษยวิทยาดนตรี (ethnomusicologist) ผู้ศึกษาดนตรีล้านนาคนแรก และได้มอบข้อมูลทั้งภาพและเสียงแก่ผู้เขียน เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลดนตรีล้านนาออนไลน์ ซึ่งเป็นที่มาของหอจดหมายเหตุดนตรีล้านนานี้
ปัจฉิมบท
ไดค์เริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจในกลางปี พ.ศ. ๒๕๖๐ แต่ยังมีกำลังใจในการทำงานด้านดนตรีต่อไป เขาลาออกจากการเป็นผู้อำนวยการดนตรี The Greater New Bedford Choral Society เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพหลังจากดำรงตำแหน่งนี้มานานถึง ๔๔ ปี ไดค์จากไปอย่างสงบที่บ้านของเขาในเช้าวันอังคาร ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ สิริอายุรวม ๘๐ ปี