“แก” ในดนตรีล้านนา หมายถึง การบรรเลงทำนองให้แปลกไปจากทำนองเดิม แต่ยังคงไปหา “เสียงชุ(จุ๊)” หรือเสียงลูกตก ดังปรากฏทำนอง “แก” ในเพลงจะปุและเพลงละม้ายของวงปี่จุม
ทำนอง “แก” สำหรับบรรเลงด้วยแนหน้อยในเพลงปราสาทไหว ที่นำมาจากเพลง “หนุ่มซอรอแฟน” ขับร้องโดย วีระพล คำมงคล วงดนตรีศรีสมเพชร เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2513 คือ ทำนองของบทร้องว่า “หยังมาตุ๊กอก หยังมาตุ๊กใจ๋ หยังมาอาลัย เช่นล้ำ” เพลงรำวงสาวบ้านแต้ “จากไปสวีวี่วี ถ้าบุญเฮามีคงจะได้เจอกัน” และเพลง “ลืมอ้ายแล้วกา” ซึ่งริเริ่มโดย พ่อครูก๋องคำ ไชยยา สล่าแนมีชื่อแห่งคณะวังสิงห์คำใต้ในอดีต


ดูเหมือนลักษณะของ “แก” ดังที่อธิบายมาข้างต้นนี้ จะคล้ายกันกับคำว่า “ทางเปลี่ยน” ของดนตรีไทย ในสารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคคีตะ-ดุริยางค์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า “เที่ยวเปลี่ยน” หรือ “ทางเปลี่ยน” ว่า หมายถึงการบรรเลงทำนองเพลงให้มีทำนองแตกต่างออกไปจากทางเดิมโดยยึดเสียงลูกตกจังหวะหน้าทับของทำนองเดิมไว้ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540, หน้า 87) สำหรับ “แก” นั้น ลูกตกหลักของทำนองแกนั้นต้องตรงกันกับของเดิมรวมถึงส่วนความยาวของทำนองแกเช่นเดียวกันกับหลักการของทางเปลี่ยนในดนตรีไทย
ผู้เขียนเคยได้ยินเรื่องราวของทำนอง “แก” ในเพลงปราสาทไหวมาตั้งแต่เริ่มเล่นดนตรีล้านนาจากผู้เฒ่าผู้แก่ (คนละทำนองกับ “หยังมาตุ๊กอกหยังมาตุ๊กใจ๋”, “ลืมอ้ายแล้วกา ก่อนสัญญากันว่าจะใด”) แต่เมื่อสอบถามท่านเหล่านั้นก็จำไม่ได้ว่าท่วงทำนองเป็นอย่างไร และเป็นทำนองคนละทำนองกับทำนอง “แหย่งก๋าย” ที่เป็นทำนองเชื่อมระหว่างเพลงแหย่งหลวงไปอีกเสียงหนึ่ง (เสียงลา) ที่บรรเลงโดยวงป้าดก๊องหรือวงปี่พาทย์ล้านนาแบบเชียงใหม่ เรื่องราวของแกเพลงปราสาทไหวนี้ยังคงติดค้างในใจผู้เขียนเรื่อยมา และคิดว่าผู้เขียนอาจจะยังเข้าถึงบุคคลข้อมูลเรื่องนี้ไม่เพียงพอและต้องทำงานแข่งกับเวลาเพราะผู้รู้เหล่านั้นอาจจะเสียชีวิตไปแล้วและความทรงจำเรื่องของแกเพลงปราสาทไหวนี้ในที่สุดอาจสูญหายไป ในเอกสารของอาจารย์สุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ เมื่อ พ.ศ. 2524 ได้บันทึกชื่อเพลงล้านนาโบราณไว้ โดยเฉพาะชื่อ “ปราสาทไหว” นั้นพบว่ามีการบันทึกไว้ถึง 3 ชื่อ ได้แก่ ปราสาทไหว ปราสาทกุด และปราสาทสร้อย (สุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์, 2524) ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็น “แก” เพลงปราสาทไหวตามเรื่องเล่าหรือไม่
วันที่ 23 มีนาคม 2566 คณะทำงานหอจดหมายเหตุดนตรีล้านนาเจอรัลด์ ไดค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยนายนิธชวัฒน์ ดวงสีลา ได้ค้นพบเทปรีลของอาจารย์สุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ บันทึกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2518 รวมถึงบันทึกเพลงจาก “ลุงแก้วซึง” นายแก้ว เรือนน้อย (อายุ 73/ ตุลาคม 2518) บ้านหน้าวัดพันตน ต.ทุ่งปี๊ อ.สันป่าตอง (ปัจจุบัน อ.แม่วาง) จ.เชียงใหม่ อดีตนักดนตรีในคุ้มเจ้าจันทร์ สมัยเจ้าแก้วนวรัฐ และจึงได้นำมาดำเนินการแปลงเป็นดิจิทัลไฟล์ และผม (สงกรานต์ สมจันทร์) ได้นำมาวิเคราะห์ น่าเสียดายที่ถอดเสียงได้ม้วนเดียว (ของพ่อครูสิงห์คำ มาคำจันทร์ บรมครูดนตรีเมืองลำปาง) และส่วนใหญ่ชำรุดไปแล้ว ความสงสัยเรื่อง “แก” เพลงปราสาทไหว ก็ยังคงอยู่ในใจเรื่อยมา
ในการนี้ขอนำเสนอ “แก” เพลงปราสาทไหว บรรเลงโดยนายบุญตัน บุญชัยธนะ วณิพกเมืองเชียงใหม่ บันทึกเสียงโดยอาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 นายบุญตันบรรเลงเพลงต่าง ๆ ได้ถึง 27 เพลง และเพลงแรกที่เขาบรรเลง คือ เพลงปราสาทไหว มีร่องรอยของทำนองที่แตกต่างจากปราสาทไหวปกติ คือ มีการออก “แก” หรือทำนองเปลี่ยนอีกด้วย ผมได้ถอดและบูรณะทำนองเดิมออกเป็น 2 รูปแบบ รูปแบบแรกตามทฤษฎี “ทางเปลี่ยน” หรือ “เที่ยวเปลี่ยน” กล่าวคือ ทำนองแตกต่างออกไปจากทางเดิมโดยยึดเสียงลูกตกจังหวะหน้าทับของทำนองเดิมไว้ และรูปแบบที่ 2 คือ “ทางแปลง” คือ การตกแต่งทำนองเพลงให้ผิดแผกไปบ้างจากของเดิม สำหรับคำว่าทางแปลง หมายถึง การตกแต่งทำนองเพลงให้มีลูกตกผิดแผกไปบ้างจากเนื้อฆ้องของเดิมบ้างเล็กน้อย ตามแต่จินตนาการของผู้ประพันธ์ เช่น เพลงลาวดำเนินทรายแปลง ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เฉพาะท่อนที่ 2 นั้นมีท่วงทำนองยาวกว่าเพลงลาวดำเนินทรายของเดิมอยู่ 1 จังหวะหน้าทับ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540, หน้า 84)


วีดิทัศน์อธิบายแกในเพลงปราสาทไหว
ผู้จัดทำข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่