ลูกสามและลูกสี่ในวงดนตรีพื้นเมือง

ลูกสามและลูกสี่ เป็นชื่อระบบการตั้งเสียงของสะล้อและซึง คำว่า “ลูก” หรือ “ลูกซึง” ในที่นี้ หมายถึง แท่งไม้ขนาดเล็กที่วางเรียงแบ่งเสียงบนคอซึง (neck)

ตรงกับศัพท์ดนตรีไทยคือ “นม” หรือ “เฟรท” (fret) บนกีตาร์ ลูกมีความสำคัญอย่างมากในการกำหนดระดับเสียง ในอดีต ทำจากไม้ไผ่ หรือไม้สัก ที่สามารถเหลาและติดโดยที่สามารถแก้ไขปรับลูกได้ภายหลัง

การที่นักดนตรีกดลูกซึงคู่สายล่าง หรือเสียงสูงลงไป 3 ลูก แล้วได้เสียงเป็นคู่ช่วงทบ (octave) จะเรียกว่า “ลูกสาม” (เพราะกดไปลูกที่สาม) และเมื่อกดซึงคู่สายล่าง หรือเสียงสูงลงไป 4 ลูก แล้วได้เสียงเป็นคู่ช่วงทบ (octave) จพเรียกว่า “ลูกสี่” (เพราะกดไปลูกที่สี่)

ระบบเสียงลูก 3 (ที่มา: สงกรานต์ สมจันทร์, 2567)
ระบบเสียงลูก 4 (ที่มา: สงกรานต์ สมจันทร์, 2567)

ซึงและสะล้อลูกสาม เมื่ออธิบายโดยใช้ศัพท์ดนตรีปัจจุบัน จะเทียบเสียงสายทุ้มเป็นเสียง “โด” และเทียบเสียงสายเอกเป็นเสียง “ซอล” คู่ดังกล่าวเป็นคู่ 5 (โด-ซอล) บางแห่งจึงอธิบายโดยใช้ศัพท์ใหม่ว่า “การตั้งเสียงคู่ห้า” ส่วนซึงและสะล้อลูกสี่ จะเทียบเสียงสายทุ้มเป็นเสียง “ซอล” และเทียบเสียงสายเอกเป็นเสียง “โด” คู่ดังกล่าวเป็นคู่ 4 (ซอล-โด) หรือ “การตั้งเสียงคู่สี่”

หากแต่ศัพท์ในท้องถิ่น เรียกว่า “ลูก” ดังคำอธิบายข้างต้น

การกำหนดโน้ตและขอบเขตเสียงของวงดนตรีพื้นเมือง (ที่มา: สงกรานต์ สมจันทร์, 2567)

การตั้งเสียงระบบ “ลูกสาม” ปรากฏในสะล้อและซึงกลาง ส่วนการตั้งเสียงระบบ “ลูกสี่” ปรากฏในสะล้อหลวงและซึงหลวง สะล้อหน้อยและซึงหน้อย (เล็ก) ซึ่งแต่เดิมแบบแผนการสร้างสะล้อและซึงไม่ได้มีการกำหนดขนาดที่เป็นมาตรฐาน ขนาดจึงเป็นไปตามวัสดุที่จัดหามาสร้างเครื่องดนตรีตามแต่ละท้องถิ่น แบบแผนการกำหนดมาตรฐาน “หน้อย-กลาง-หลวง” เริ่มต้นโดย เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ และสืบทอดต่อมายังกลุ่มลูกศิษย์ “สล่า” ของท่าน เช่น ครูวิเทพ กันทิมา พ่อครูบุญรัตน์ ทิพยรัตน์ เป็นต้น

ที่มา:

สงกรานต์ สมจันทร์. (2567). การสอนดนตรีล้านนา: วงดนตรีพื้นเมือง (สะล้อ ซอ ซึง). เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

ผู้จัดทำข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *