ชาวล้านนารู้จัก “พระปัญจสิงขร” ซึ่งท่านเป็นหนึ่งในครูดุริยเทพมาอย่างน้อย 500 ปีมาแล้ว ดังที่สงกรานต์ สมจันทร์ (2563) ได้เสนอไว้ในหนังสือประวัติดนตรีล้านนา ดังนี้
การค้นพบภาพพระบฏในกรุเจดีย์วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่ทำการสร้างเขื่อนภูมิพลนั้น เป็นหลักฐานที่มีความสำคัญยิ่งทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะและดนตรี พระบฏนี้วาดเป็นภาพพระพุทธเจ้าและมีเหล่าเทวดาทำการสักการะอยู่รายรอบ โดยเฉพาะปรากฏการวาดภาพเทวดาปัญจสิงขร อันเป็นเทวดาทางพระพุทธศาสนากำลังดีดพิณทรงฮาร์พ (Harp) จำนวน 7 สาย
แม้ว่าศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จะวิเคราะห์และสันนิษฐานว่าภาพเขียนนี้ควรเขียนขึ้นเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีหลังภาพเขียนที่วัดราชบูรณะ กะว่าอยู่ในราว พ.ศ. 2095 ซึ่งตรงกับล้านนาในยุคเสื่อม อย่างไรก็ตาม ภาพเขียนนี้ได้สะท้อนความเจริญทางพระพุทธศาสนาในล้านนาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการวาดภาพพระบฏตามคติหรือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
อีกทั้งการวาดสายพิณให้มี 7 สาย ซึ่งจะเป็นความจงใจหรือแฝงคติซ่อนเร้นของผู้วาดหรือไม่นั้นไม่ทราบได้ แต่ก็ทำให้ทราบว่าอย่างน้อยดนตรีล้านนาในช่วงสมัยดังกล่าวน่าจะมีการใช้เสียง 5 เสียงเป็นอย่างน้อย และมีพัฒนาการเป็น 7 เสียงในระยะเวลาต่อมา
พิณดังกล่าวอาจเรียงเสียงในลักษณะ 1 2 3 X 5 6 X หรืออาจเรียงทั้ง 7 เสียงก็ได้ ซึ่งในวัฒนธรรมล้านนาเองก็มีคาถาเกี่ยวกับพิณ 7 สายอยู่ด้วย
“วะหะนา โลกะ วะสะก๋ะ วะละต๋า คาถาบทนี้พิณเจ็ดสาย ปิยะนักแล”
ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดมาจาก พระครูวิจารณ์พัฒนกิจ (บุญเลิศ ปญฺญาธโร) เจ้าอาวาสวัดป่าสัก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ รอผู้รู้ถอดความหมายบาลีต่อไป

ภาพที่ 1 เศียรพระปัญจสิงขร ศิลปะล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ (Musée Guimet) ประเทศฝรั่งเศส ภาพจาก ดร.สุรัตน์ จงดา
ภาพที่ 2 เทวดาปัญจสิงขรดีดพิณ 7 สาย ส่วนหนึ่งของพระบฏวัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
ดูเพิ่มใน:
สงกรานต์ สมจันทร์. (2563). ประวัติดนตรีล้านนา (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
ผู้จัดทำข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่