จรัล มโนเพ็ชร: ฮ่มฟ้าปารมี

จรัล มโนเพ็ชร กับดนตรีล้านนา

จรัล มโนเพ็ชร เป็นศิลปินที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดนตรีล้านนาอีกท่านหนึ่ง เขาเกิดเมื่อ พ.ศ. 2494 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มฝึกหัดดนตรีทั้งดนตรีล้านนาและดนตรีสากลตั้งแต่เด็ก ได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา) ในระหว่างเรียน จรัลได้เล่นดนตรีตามร้านต่างๆ เพื่อหารายได้พิเศษด้วย ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเวียดนาม กระแสดนตรีแบบอเมริกันเป็นที่นิยมมาก ดังนั้นลักษณะเพลงโฟล์คซองคำเมืองของจรัลจึงมีกลิ่นอายแบบอเมริกันอยู่ด้วย

จรัลเป็นที่รู้จักจากผลงานแรกที่ออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2520 นำเอาเพลงล้านนามาใช้เป็นวัตถุดิบในการประพันธ์เพลงโฟล์คซองในชุดแรกของเขาด้วย คือ เพลงน้อยไจยา ตามมาด้วยหลายผลงานในอัลบั้มต่อมา เช่น เพลงล่องแม่ปิง นับเป็นแนวคิดที่ทันสมัยมากในยุคนั้น ต่อมา จรัลได้จัดคอนเสิร์ตครั้งสำคัญ คือ “ม่านไหมไยหมอก” เป็นการตอกย้ำกระแสท้องถิ่นนิยมได้เป็นอย่างดี นอกจากจรัลจะนำเสนอผลงานเพลงของเขาซึ่งกลายเป็นภาพตัวแทนของความเป็นล้านนาในขณะนั้นแล้ว เขายังนำเสนอดนตรีล้านนาและการแสดงล้านนา ที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์ล้านนาได้อย่างน่าสนใจ

ผลงานทางดนตรีที่สำคัญของจรัล มโนเพ็ชรในด้านดนตรีล้านนาคือ ในปี พ.ศ. 2539 ธนาคารกรุงเทพได้จัดโครงการประพันธ์เพลงเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในชื่อ “จตุรภาคกาญจนาภิเษกสมโภช” โดยมีครูดนตรีจากภูมิภาคต่างๆ ประพันธ์เพลงขึ้นใหม่เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในส่วนของจรัล ได้ประพันธ์เพลง “ฮ่มฟ้าปารมี” ขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ท่อน ท่อนแรก บรรเลงด้วยดนตรีสะล้อ ซึง กำกับหน้าทับด้วยกลองป่งป้ง ในท่อนที่ 2 กำกับหน้าทับด้วยกลองตึ่งโนง และท่อนที่ 3 เป็นท่อนเร็ว กำกับหน้าทับด้วยกลองเต่งถิ้ง นับเป็นงานที่ทันสมัยมากในขณะนั้น ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์ท่าฟ้อนขึ้นประกอบกับเพลง โดยเพลงนี้เป็นอีกเพลงหนึ่งที่เป็นที่นิยมบรรเลงในดนตรีล้านนาอย่างมาก

สำหรับประวัติของเพลงฮ่มฟ้าปารมี เป็นเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่โดย จรัล มโนเพ็ชร โดยมีชื่อเดิมคือ เพลงฮ่มฟ้าภูดอย ในปี พ.ศ. 2539 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเพลงฮ่มฟ้าปารมี เนื่องจากเป็นหนึ่งในตัวแทนเพลงภาคเหนือที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเพลงจตุรภาคกาญจนาภิเษกสมโภช เฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จัดโดยธนาคารกรุงเทพ โดยมีครูผู้ใหญ่ให้คำแนะนำทางดนตรีล้านนา คือ เจ้าอุดม ณ เชียงใหม่ ลักษณะเด่นของเพลงฮ่มฟ้าปารมี คือ การใช้สะล้อบรรเลงทำนองจ๊อยและใช้ปี่จุมบรรเลงเป็นท่อนนำ นอกจากนี้ ยังมีการใช้กลองต่าง ๆ ในการกำกับจังหวะทั้ง 3 ท่อนให้เกิดอารมณ์เพลงที่แตกต่างกัน คือ ท่อน 1 กำกับหน้าทับด้วยกลองป่งป้ง ท่อน 2 กำกับหน้าทับด้วยวงกลองตึ่งโนง และท่อน 3 ซึ่งเป็นท่อนสุดท้าย กำกับด้วยหน้าทับกลองเต่งถิ้ง เป็นครั้งแรกที่มีการประสมวงดนตรีพื้นเมือง (วงสะล้อ ซอ ซึง) ด้วยกลองเต่งถิ้ง

สำหรับท่อน 2 ปรากฏการบันทึกเสียงในชื่อเพลง “สามหมอก” ฝีมือการเดี่ยวซึงของจรัล มโนเพ็ชร ในอัลบั้มชุดจากเสียงซึงสู่พิณเปี๊ยะมาก่อน นอกจากนี้ เพลงฮ่มฟ้าปารมียังเป็นบทเพลงที่ใช้บรรเลงในองค์สุดท้ายของการแสดงชุดเฉลิมขวัญนพบุรี 700 ปี นครเชียงใหม่ หน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระบรม-ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ณ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่


ที่มา:

สงกรานต์ สมจันทร์. (2563). ประวัติดนตรีล้านนา (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

สงกรานต์ สมจันทร์. (2565). สารานุกรมเพลงดนตรีล้านนา. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

ผู้จัดทำข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *