รูปแบบจังหวะกลองในวงกลองตึ่งโนง

คำว่า “ตึ่งโนง” เป็นชื่อเรียกวงดนตรีตามภาษาเลียนเสียง (Onomatopoeia) จากเสียงที่ได้ยินว่า ตึ่ง-โนง วงดนตรีนี้ในหลายท้องถิ่นมีความแตกต่างในรายละเอียด แต่เป็นแนวคิดเดียวกัน คือ วงกลองตกเส้งของลำปาง วงกลองอืดของเมืองน่าน เป็นต้น

วงกลองตึ่งโนง มีเครื่องดนตรีสำคัญคือ “กลองแอว” หมายถึง กลอที่มีเอว แสดงว่าก่อนหน้านี้ไม่มีกลองที่มีเอวมาก่อน จึงเรียกกลองนี้ว่ากลองแอว รวมทั้งเครื่องดนตรีประกอบจังหวะอย่างฆ้องและฉาบ (สว่า) มีแนมาเป็นเครื่องดนตรีดำเนินทำนอง

วงกลองตึ่งโนง เน้นจังหวะ ฉว่า-ตึ่ง-โนง-ต๊ก-ตึ่ง-ต๊ก-โนง ให้ความสำคัญกับจังหวะมากกว่า ดังนั้น แนหลวงและแนหน้อยอยู่ในบทบาทรอง แต่ต้องมีเพื่อความสมบูรณ์และงดงามในมิติทางเสียงที่ครบถ้วนทั้งจังหวะและทำนอง ใช้ประกอบฟ้อนเล็บ หรือบรรเลงตามโอกาสต่างๆ

วงกลองตึ่งโนงของเชียงใหม่ มีการพัฒนาไปมากกว่า มีระเบียบแบบแผนจนไม่เป็นพื้นบ้าน (Folk) แต่เป็นวงดนตรีที่มีแบบแผน (Tradition) จนคลาสสิค (Classic) คือ กำหนดให้มีฆ้องสองใบ คือ ฆ้องอุ้ย (ฆ้องขนาดใหญ่) และฆ้องโหย้ง (ฆ้องขนาดเล็ก) ต้องเป็นเสียงเดียวกันแต่ต่างช่วง (Octave) ทั้งนี้ ต้องตั้งเสียงให้เป็นเสียงเดียวกัน ตรงกันทุกเครื่อง (เว้นฉาบ) พ่อหนานดำรงค์ ชัยเพ็ชร์ ครูกลองตึ่งโนงคนสำคัญผู้ล่วงลับมักจะแสดงการตั้งเสียงดังกล่าวให้ฟังเสมอ ๆ

วงกลองตึ่งโนงเชียงใหม่จึงแตกต่างจากแบบลำพูน ทั้งเรื่องการตั้งเสียงดังกล่าว และทำนองหรือกระบวนเพลงที่ใช้ในการเป่าแน ที่เชียงใหม่ขยายไปอีก จนเรียกตามเทปที่อัดเสียงว่า “แบบกู้เต้า” ของเชียงใหม่ และแบบ “สันดอนรอม” ของลำพูน แต่ความจริง แบบกู่เต้ามีเป่านานแล้ว ควรเรียกว่า แบบเชียงใหม่ หรือ แบบในเวียง

วงกลองแนวคิดแบบตึ่งโนงในจังหวัดอื่นๆ ยังคงความเป็นพื้นบ้านอยู่มาก ไม่มีระเบียบแบบแผนโดยเฉพาะการตั้งเสียงฆ้องที่ตายตัว แต่วงกลองตึ่งโนงเชียงใหม่ จะพัฒนามาเมื่อใดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ที่สำคัญคือ เป็นวงกลองที่ใช้กับวัด แม้แต่ในขบวนก็ต้องเกี่ยวกับวัด ปัจจุบันนำมาให้กับการแสดง เพิ่มหน้าที่ (Function) ให้มากขึ้น

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าวงกลองตึ่งโนงแบบเชียงใหม่พัฒนาจนเป็นวงดนตรีแบบแผนเมื่อใด แต่จากภาพที่โพสนี้ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2469 คราวที่รัชกาลที่ 7 และพระราชินีเสด็จประภาสมณฑลพายัพ โดยภาพนี้ถ่ายวงกลองตึ่งโนงจากขบวนแห่ครัวทานปอยหลวงวัดพระสิงห์ แสดงให้เห็นว่า มีการพัฒนาวงกลองตึ่งโนงแล้ว จากภาพฆ้องสองใบดังกล่าว

วงกลองตึ่งโนงในขบวนแห่ครัวทานวัดพระสิงห์ หน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2469

สำหรับเอกสาร “พื้นฐานการปฏิบัติวงกลองตึ่งโนง” นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์ สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้เรียบเรียงเพื่อใช้ประกอบการสอนการปฏิบัติวงกลองตึ่งโนง โดยนำเสนอรูปแบบจังหวะสำคัญที่ใช้ในวงกลองตึ่งโนงจำนวน 3 รูปแบบจังหวะ ได้แก่ (1) แบบพื้นฐาน (2) แบบในเวียงเชียงใหม่ และ (3) แบบลำพูน หรือแบบวัดสันดอนรอม จังหวัดลำพูน ซึ่งในวัฒนธรรมดนตรีล้านนาอาจมีรูปแบบจังหวะหลากหลายและแตกต่างไปจากเอกสารนี้ได้

หมายเหตุ: มิได้รวมถึงวงกลองตกเส้ง, วงกลองอืด ที่มีลักษณะเดียวกัน แต่มีรูปแบบทางดนตรีที่แตกต่างกัน

วงกลองตึ่งโนง บรรเลงแบบในเวียงเชียงใหม่

วงกลองตึ่งโนง บรรเลงแบบวัดสันดอนรอม ลำพูน

วงกลองตึ่งโนง วัดสันดอนรอม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เข้าชมผ่าน Facebook ศูนย์วัฒนธรรม โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน ที่นี่

ผู้จัดทำข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *