เพลงละม้ายเชียงแสน

เพลงละม้ายเชียงแสน เพลงล้านนาโบราณที่หาฟังได้ยาก

เพลงละม้ายเชียงแสน หรือเพลงจ๊อยบ๊อย หรือเพลงผีมด เป็นเพลงพื้นเมืองโบราณสำหรับบรรเลงด้วยวงป้าดก๊อง ปรากฏการสืบทอดในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยคณะเชียงยืน เป็นบทเพลงที่มีโครงสร้างซับซ้อน ตลอดจนเป็นเพลงหนึ่งในชุดการแสดงฟ้อนม่านแม่เล้ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ด้วย โดยเพลงละม้ายเชียงแสนมีความซับซ้อนและยาวกว่ามาก
 
สำหรับชื่อเพลงละม้ายเชียงแสน เป็นชื่อที่เรียกในคณะเชียงยืน วงปี่พาทย์ล้านนาเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่ยังคงสืบทอดเพลงนี้อยู่ ส่วนชื่อเพลงจ๊อยบ๊อย เรียกตามอาจารย์บรูซ แกสตัน ที่มีการบันทึกเสียงเพลงนี้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2531 อาจารย์บรูซน่าจะได้เรียนเพลงปี่พาทย์ล้านนานี้จากครูท่านใดท่านหนึ่งจึงเลือกเพลงนี้ในการบันทึกด้วย มีการใช้แนและฆ้องแบบล้านนาในการบันทึกเสียงด้วย (ดูโพสต์ต้นทางของอาจารย์อานันท์ นาคคง ได้จากที่นี่ https://s.cmru.ac.th/AnantNarkkongJoiBoi
นอกเหนือไปจากข้อมูลเพลงที่ปรากฏใน #สารานุกรมเพลงดนตรีล้านนา แล้ว สงกรานต์ สมจันทร์ ได้ศึกษาค้นคว้าพบแผ่นเสียงเพลงดังกล่าวที่บันทึกโดยคณะช่างฟ้อนของคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ ปี่พาทย์โดยคุ้มเจ้าหลวง ปรากฏการบันทึกชื่อเพลงนี้ 2 ชื่อ คือ เพลงผีมด และเพลงจ๊อย การบันทึกเสียงนี้เกิดขึ้นราว 2482 ซึ่งแน่นอนว่าการบันทึกเสียงโดยแผ่นเสียงตรากระต่ายดังกล่าวได้รับอนุญาตจากเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้ายแล้ว สงกรานต์ สมจันทร์ สันนิษฐานโดยใช้หลักฐานจากแผ่นเสียงและข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ เสนอว่าเพลงนี้ คงเป็นเพลงพื้นเมืองมาแต่เดิมในพิธีกรรม แล้วถูกนำมาใช้ในชุดการแสดงหนึ่งที่เรียกว่า “ฟ้อนผีมด” ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ดังปรากฏการนำมาร้อยเรียงเป็นส่วนหนึ่งของชุดการแสดงที่เรียกว่า “ฟ้อนม่านแม่เล้” โครงสร้างของเพลงเป็นเพลงอัตราจังหวะกระชับ มีจำนวนท่อนทั้งหมด 3 ท่อน โดยมีการแทรกสร้อยเพลงเมื่อจบท่อนในแต่ละท่อน ใช้เสียงครบทั้ง 7 เสียง
 
ปัจจุบันเพลงนี้เป็นเพลงหนึ่งที่หาฟังได้ยาก นอกเหนือไปจากฐานข้อมูลดนตรีล้านนาที่บันทึกโดยอาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) ช่วง พ.ศ. 2510-2514 และการบันทึกของวงฟองน้ำในปี พ.ศ. 2531 แล้ว เมื่อ พ.ศ. 2563 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปทุมทิพย์ กาวิล วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ได้บันทึกเพลงนี้ที่บรรเลงโดยคณะเชียงยืนเพื่อใช้ประกอบในหนังสือป้าดก๊อง บทเพลงในพิธีกรรมและความเชื่อ ต่อมาในคราวที่มีการประกวดดนตรีล้านนาแห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2565 ประเภทวงปี่พาทย์ล้านนา จัดโดยคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกู่คำศิลป์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเพลงนี้มาใช้สำหรับการประกวดแข่งขันครั้งนั้นด้วย สำหรับการบรรเลงครั้งนี้ ใช้ซึงจำนวน 3 ขนาด ได้แก่ ซึงหน้อย ซึงกลาง และซึงหลวง บรรเลงร่วมกับขลุ่ยพื้นเมือง โดยปรับจังหวะให้เร็วกระชับขึ้น ให้มิติทางเสียงที่แตกต่างไปจากวงปี่พาทย์ล้านนาที่เป็นต้นขนบแต่เดิม
 
album-art

Gerald P. Dyck Collection

คณะเชียงยืน 14 ธันวาคม พ.ศ. 2513
ละม้ายเชียงแสน พ.ศ. 2513
00:00
-11:01
กิตติกรรมประกาศ:
 
ขอขอบคุณนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ร่วมบรรเลง ได้แก่ ทรัพย์ทวี ศรีงาม (ซึงหน้อย), ศุภนัท ต๊ะมูล (ซึงกลาง), วัชรพงษ์ ปานาที (ซึงหลวง), บรรเลงขลุ่ยพื้นเมืองโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์
 
และขอขอบพระคุณ หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์ เอื้อเฟื้อการสืบค้นข้อมูลในครั้งนี้
 

อ้างอิง:
สงกรานต์ สมจันทร์. (2565). สารานุกรมเพลงดนตรีล้านนา. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

ผู้จัดทำข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *