เพลงแหย่งยี

“เพลงแหย่งยี” บทเพลงล้านนาโบราณที่สูญหายและไม่มีการบรรเลงอีกเลยในรอบ 100 ปี

แม้ว่าจะปรากฏชื่อ “แหย่งยี” ในสมุดจดชื่อเพลงของพ่อครูบุญทา บำรุงแจ่ม แห่งคณะแห่ปี่พาทย์ล้านนาคณะบ้านแจ่ม เมืองลำพูน ช่วงทศวรรษ 2490-2510 แต่ก็ไม่ทราบว่าท่วงทำนองเป็นอย่างไร

สมุดจดเพลงของพ่อน้อยทา บำรุงแจ่ม หัวหน้าคณะแห่บ้านแจ่ม อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ช่วงทศวรรษ 2490-2510 ปรากฎชื่อเพลง "แหย่งยี" ต่อจากเพลงปราสาทไหว (ที่มา: นิธชวัฒน์ ดวงสีลา)

สำหรับคำว่า “แหย่ง” ในที่นี้ หมายถึงสัปคับนั่งบนหลังช้าง ในดนตรีล้านนานั้น ปรากฏชื่อ “เพลงแหย่ง” ที่หมายถึงเพลงปราสาทไหว เมื่อบรรเลงด้วย “ลูกตั้ง” หรือเสียงหลักเมื่อบรรเลงด้วยแนหน้อยแบบเชียงใหม่ เรียกว่า “แหย่งหลวง” ตามชื่อของเสียงที่บรรเลงเป็นเสียงแรก ก่อนที่จะเคลื่อนหรือเปลี่ยนระดับเสียงไปอีก รวมทั้งหมด 5 เสียง ดังนั้น การตั้งชื่อเพลงว่า “แหย่ง” จึงมีความสำคัญในเชิงบทบาทหน้าที่การใช้บรรเลง

ในสารานุกรมเพลงดนตรีล้านนา ได้กล่าวถึงการเรียกชื่อเพลงแหย่งตามลักษณะของเสียงที่ใช้บรรเลง เช่น เสียงต่ำเรียกว่าเพลงแหย่งหลวง หากใช้เสียงสูง เรียกว่า เพลงแหย่งหน้อย สำหรับชื่อเพลงปราสาทไหว มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความเป็นชนชั้นสูงในล้านนา เช่น กษัตริย์ ขุนนาง หรือแม้แต่ปราสาทที่ใช้บรรจุโลงศพอีกด้วย ส่วนคำว่าแหย่ง หมายถึง สัปคับหลังช้าง จึงสะท้อนสำนึกของชาวล้านนาที่เรียกเพลงดังกล่าวว่า “ปราสาท” และ “แหย่ง” ที่หมายถึง กษัตริย์หรือชนชั้นนำที่ในอดีตหากจะเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ อาจต้องมีการประโคมด้วยดนตรีดังบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น ดังข้อความจากตำนานพระญาเจืองที่ว่า

“…อันว่าเจ้ากษัตริย์ทัง 2 คืออุปราชเจืองรุนและนางงอมมวร ปลฺลํกาปฺปโต อันคราดคาลาลงจากแท่น เชยฺยคมนเทณฑิสทฺทนจ ด้วยเสียงกลองไชยตีไปก่อนก็ดี ปญฺจํคตุริเยหิจ ด้วยเสียงตุริยะนนถีอันมีองค์ 5 ประการก็ดี สมารุยหิตฺวา ขึ้น หตฺถี ปาสาทํ สู่ปราสาทช้าง นิกฺขมิสุ ก็ไป นครทฺวารโต จากประตูเวียง หตฺถีปาท ลิลาย ด้วยลีลาอากัปอันวามแห่งบาทย่างช้างกานคำ…”

สำหรับคำว่า “ยี” ในพจนานุกรมภาษาล้านนาให้ความหมายว่า หมายถึงปีขาล หรือปีเสือ นอกจากนี้ในรูปแบบของกิริยานั้นหมายถึงการขยี้หรือขยำ ส่วนภาษาพม่า คำว่า “คยี” หรือ “จี” ตามพจนานุกรมภาษาพม่า หมายถึง ใหญ่ เพลง “แหย่งยี” จึงอาจหมายถึงและสัมพันธ์กับความหมายหนึ่งความหมายใดตามที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้

สำหรับเพลงแหย่งยีนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์ พบชื่อในบัญชีแผ่นเสียง His Master’s Voice หรือแผ่นเสียงสุนัขหน้าเหลือง ซึ่งจัดจำหน่ายโดยห้างรัตนมาลา ถนนพาหุรัด กรุงเทพมหานคร แต่ก็ยังไม่พบแผ่นเสียง จนกระทั่งค้นพบแผ่นเสียงในที่สุด และบันทึกโน้ตถ่ายทอดให้นักศึกษา หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ บรรเลงเพลงนี้อีกครั้งในรอบ 100 ปี

สำหรับข้อมูลแผ่นเสียงนี้ บรรเลงโดยช่างปี่ชาวเชียงใหม่ด้วยวงปี่จุม 5 ถูกบันทึกเสียงเมื่อ พ.ศ. 2468 โดยวิศวกรเสียงของบริษัทกราโมโฟน ชื่อ โรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด เบ็กเก็ตต์ บันทึกเสียงที่กรุงเทพแล้วส่งไปผลิตแผ่นที่โรงงานใหญ่ในเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียในขณะที่ยังคงเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ


กิติกรรมประกาศ:

ขอขอบคุณนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ร่วมบรรเลง ได้แก่ ทรัพย์ทวี ศรีงาม (สะล้อ), ศุภนัท ต๊ะมูล (ซึงกลาง), วัชรพงษ์ ปานาที (ซึงหลวง), ณัฐพล ก้อชนะ (ฉาบเล็ก), และบันทึกวีดิทัศน์โดย รุ่งเรือง นันต๊ะโส

และขอขอบพระคุณ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์ เอื้อเฟื้อการสืบค้นข้อมูลในครั้งนี้


อ้างอิง:

สงกรานต์ สมจันทร์. (2565). สารานุกรมเพลงดนตรีล้านนา. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

อรนุช นิยมธรรม และวิรัช นิยมธรรม. (2537). พจนานุกรมพม่า-ไทยและไทย-พม่า. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. (2524). ตำนานพระยาเจือง ปริวรรต. เชียงใหม่: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ส่งเสริมและศึกษาวัฒนธรรมลานนาไทย วิทยาลัยครูเชียงใหม่.

Play Video

ผู้จัดทำข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *