การเก็บข้อมูลภาคสนามดนตรีล้านนาครั้งแรกของพ่อครูจริยะ (Gerald P. Dyck)

วันที่ 28 มีนาคม ดูเหมือนว่าจะเป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง หากแต่ในประวัติการศึกษาดนตรีล้านนาร่วมสมัยนั้น อาจกล่าวได้ว่า วันนี้เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการศึกษาดนตรีล้านนาโดยใช้วิธีการทางมานุษยดนตรีวิทยา (Ethnomusicology) อย่างเต็มรูปแบบ

มานุษยดนตรีวิทยา เป็นการศึกษาดนตรีในสังคมและบริบททางวัฒนธรรม ใช้วิธีการในการศึกษาแบบสหวิทยาการ สมาคมมานุษยดนตรีวิทยา (The Society for Ethnomusicology) ได้กล่าวถึงหัวใจการทำงานทางมานุษยดนตรีวิทยา 3 ประการ ได้แก่ 1) การใช้มุมมองที่เป็นสากลต่อดนตรี 2) มีความเข้าใจดนตรีในฐานะปฏิบัติการทางสังคม และ 3) ใช้การลงพื้นที่ภาคสนามแบบชาติพันธุ์วรรณนาและวิธีการทางประวัติศาสตร์

และอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีบทบาทมากยิ่งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมถึงทฤษฎีโดมีโน่ นั่นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เราจะพบว่าในช่วง 2490-2520 อเมริกาเข้ามามีบทบาทในหลากหลายมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา โดยเฉพาะวิชามามนุษยวิทยา ที่มุ่งเน้นในการศึกษาความคิดความเชื่อของผู้คน ก่อนที่จะปลูกฝังอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อไป

แต่เรื่องนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เพราะว่าการเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรแตสแตนท์ แบบอเมริกันเพรสไบทีเรียน ได้กระจายตัวเข้ามายังพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ซึ่งมีการก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมผู้นำคริสเตียนชาวล้านนาตั้งแต่ พ.ศ. 2432 พัฒนาเป็นพระคริสตธรรมแมคกิลวารีในปี พ.ศ. 2455 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “พระคริสตธรรมแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย” (Thailand Theological Seminary) ก่อนที่จะรวมกับโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยแมคคอร์มิค ก่อตั้งเป็นวิทยาลัยพายัพในปี พ.ศ. 2517

ที่พระคริสตธรรมแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยนี้เอง มีอาจารย์หนุ่มชาวอเมริกันที่เคยทำงานเป็นอาสามัครที่จังหวัดเชียงราย ที่ภายหลังสำเร็จการศึกษาทางด้านดนตรีศาสนาจากนิวยอร์กแล้ว ได้สมัครงานเป็นอาจารย์ดนตรีที่สถาบันดังกล่าว

อาจารย์หนุ่มคนนั้น คือ อาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) หรือชื่อภาษาไทยคือ “จริยะ” ที่อยู่สอนหนังสือ และศึกษาดนตรีล้านนาด้วยวิธีการทางมานุษยดนตรีวิทยายาวนานกว่า 4 ปี (พ.ศ. 2510-2514)

คำถามคือ แล้วทำไม อาจารย์ไดค์ ถึงศึกษาดนตรีล้านนาด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยาดนตรี?

นั่นก็เพราะด้วยความที่เป็นนักเรียนดนตรีศาสนาด้วยประการหนึ่ง ส่วนประการที่สำคัญคือ ขณะที่ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ Union Theological Seminary ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก สามารถลงทะเบียนเรียนบางรายวิชาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้อีกด้วย

อาจารย์ไดค์จึงลงทะเบียนเรียนวิชา “Ethnomusicology: Technique for Studying World Music in its Social Setting” หรือ “มานุษยวิทยาดนตรี: เทคนิคสำหรับการศึกษาดนตรีโลกในแต่ละลักษณะทางสังคม” ก่อนที่ภายหลังจะได้ศึกษาเพิ่มเติมจาก ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตัน (David Morton) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส เป็นระยะเวลา 1 เดือนก่อนเดินทางมาทำงานที่ประเทศไทย

ภายหลังจากภาระการสอนและการบริหารที่พระคริสตธรรมแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย อาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ ได้เริ่มใช้เวลาว่างในการศึกษาดนตรีในภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีการเริ่มเก็บข้อมูลภาคสนามทางมานุษยดนตรีวิทยาอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2510 ในงานศพที่วัดเชียงมั่น ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมีเพื่อนร่วมเดินทาง คือ ศาสนาจารย์ ดร.ประจวบ เดชะวรรณ

อาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ ใช้อุปกรณ์ในการเก็บข้อมูลภาคสนามแบบนักมานุษยวิทยาดนตรีรุ่นนั้นทำกัน นอกเหนือไปจากเรื่องทักษะทางภาษาไทยที่อยู่ในระดับดีแล้ว เครื่องมืออย่างสมุดจดบันทึก กล้องถ่ายรูปยี่ห้อ Pentax เครื่องบันทึกเทปยี่ห้อ Sony (SONY TC-124 Stereo Cassette Tape) รวมถึงเครื่องบันทึกเทปรีลยี่ห้อ Uher (Uher 4200 report stereo reel-to-reel tape recorder) ถูกบรรจุอยู่ในถุงย่ามสำหรับสะพายไปในการเก็บข้อมูลภาคสนาม และเมื่อกลับมาจากการเก็บข้อมูลก็ยังมีเครื่องเล่นเทปรีล Akai (Akai 910 Tape Desk) สำหรับทำ post-production หรือการจัดกระทำข้อมูลเสียง รวมถึงการทำสำเนาต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง

รวมถึงพาหนะสำคัญ Honda 90cc ที่เพื่อนชาวไทยทักท้วงว่า รถมอเตอร์ไซค์มีขนาดเล็กไปหน่อยเมื่อเทียบกับรูปร่างสูงใหญ่ของอาจารย์เจอรัลด์ ไดค์

เป็นโชคดีเหลือเกินที่การเก็บข้อมูลภาคสนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2510 นั้น วงดนตรีที่บรรเลงในงานศพนั้น คือ “คณะรักบรรเลง“ ที่มีครูรอด อักษรทับ อดีตครูดนตรีในวังพระราชชายา เจ้าดารารัศมี และคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ นั่งบรรเลงฆ้องวงใหญ่ภายในวง

อ่านเรื่องราวของครูรอด อักษรทับ และความสำคัญของท่านในประวัติศาสตร์ดนตรีล้านนาได้จากที่นี่:
https://lannamusic.org/?p=1979

การบันทึกดังกล่าว มีการจัดการเรื่องการบันทึกเสียงอย่างมืออาชีพ ทั้งเรื่องของการจัดไมค์ รวมทั้งมีการถ่ายรูป สัมภาษณ์ บันทึกรายชื่อนักดนตรี รวมถึงบันทึกเสียงเพลงจำนวน 5 เพลง โดยบันทึกข้อมูลด้วยหมายเลข GPD001 กล่าวคือ เป็นข้อมูลชุดแรกของอาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ นั่นเอง

เอกสารหมายเลข GPD-D001-01 Fieldnote คณะรักบรรเลง

หนึ่งปีให้หลัง ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2511 อาจารย์เจอรัลด์ ไดค์ (Gerald P. Dyck) ได้มีโอกาสนำเสนอข้อมูลดนตรีล้านนาจากการเก็บข้อมูลทางมานุษยดนตรีวิทยาในเชียงใหม่ที่สยามสมาคม (The Siam Society) กรุงเทพฯ ในหัวข้อ “A Survey of Music in Northern Thailand” หรือ “การสำรวจดนตรีในภาคเหนือของประเทศไทย” ซึ่งเป็นการบรรยายพร้อมกับนำเสนอเทปบันทึกเสียงจากงานบันทึกเสียงภาคสนามส่วนหนึ่งก็จากการเก็บข้อมูลในปี พ.ศ. 2510 นั้นเอง

เอกสารหมายเลข GPD-D001-02 เอกสารส่วนหนึ่งของการบรรยาย Music of Northern Thailand ที่สยามสมาคม
เอกสารหมายเลข GPD-P001 คณะรักบรรเลง ของครูรอด อักษรทับ
เอกสารหมายเลข GPD-A001 การบันทึกเสียงคณะรักบรรเลง ของครูรอด อักษรทับ
album-art
GPD001-คณะรักบรรเลง ครูรอด อักษรทับ
โครงการอนุรักษ์ข้อมูลดนตรีล้านนา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
00:00
-6:42

ผู้จัดทำข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *