ในเอกสารพับสาส่วนบุคลคลที่เผยแพร่โดยศูนย์ใบลานศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้กล่าวถึง “กิตตนาเครื่องปูชาอินทขีล” ความว่า
ปเวณีปูชาอินทขีลตามเดิม เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก หื้อเกณฑ์เอาฅนแฅว้นใกล้เวียงมาแปลงตำหนักที่อินทขีล ฯ ตำหนักหลวงฝ่ายหน้า วิหารวัดเจดีย์หลวงฝ่ายเหนือ หลัง 1 ฯ ตำหนักเจ้าวังหน้า ฝ่ายใต้ หลัง 1 ฯ ผามเพียงหน้าตำหนักหลวง หลัง 1 ฯ ตูบกลองม่าน หลัง 1 ฯ ตูบช่างซอ หลัง 1 ฯ ตูบที่เกณฑ์พญาสนามไปรั้งหลัง 1 ฯ ตูบพ่อฅัว หลัง 1 ฯ แล้วตกเอาไม้อ้อกับแฅว้นทังหลายมาแปลงหอแลขัดราชวัตร ตกหื้ออามู ประตูแปลงของแสนสางแล ฯ ประตูตกกองขาวร้อย กองแดง ช่อร้อยผืน เครื่องปูชาตกกับเจ้านายสิงสาดราชบุตรท้าวพระญา ค่าพะดามีในเวียงทังมวลตกแลตน ผ้าขาวรำ ผ้าแดงรำ หมากหมื่น หื้อมีบันชีติด ไหขาว 1 ไหนแดง 1 ฯ
ในวังหลวง หื้อกัมมการไปไหว้สาเอาสีนาดคู่นึ่ง หอกคู่ 1 ดาบคู่ 1 เงิน 4 พัน ฅำ 4 ร้อย สาดแข็บ 1 หมอนผา 1 พรม 1 เบี้ยหมื่น หมากหมื่น ผ้าขาวรำ ผ้าแดงรำ ฯ
ที่เจ้าวังหน้า หื้อไหว้สาเอาเชลยคู่ 1 สีนาดคู่ 1 สาด หมอน ผ้าขาวรำ ผ้าแดงรำ เบี้ยหมื่น หมากหมื่น กลองสบัดชัย หื้อเกณฑ์เอาช่างเชิง ช่างปี่ ช่างซอ มาฟ้อนเชิงแลซออุ่มงัน 7 วัน 7 ฅืน หื้อนิมนต์ทุ 9 ตน มาสูดสังคหะที่อินทขีลธุกวัน คันจักออก ตกเอาเครื่องภัณฑะกับเจ้าท้าวพญามาหื้อทานทุกวันออกนั้นแล ฯ
ข้อความดังกล่าว เป็นการแสดงความสำคัญของเสาอินทขีลและพิธีการบูชาใน “ระดับเมือง” ที่มีความซับซ้อนและเป็นประเพณีที่ต้องอาศัยคนทุกระดับชั้นในสังคม และจะเห็นได้ว่า กิจกรรมทางดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของพิธีนี้ ดังที่กล่าวว่า “ตูบกลองม่าน หลัง 1 ฯ ตูบช่างซอ หลัง 1” รวมถึง “หื้อเกณฑ์เอาช่างเชิง ช่างปี่ ช่างซอ มาฟ้อนเชิงแลซออุ่มงัน 7 วัน 7 ฅืน
ดังปรากฏแบบแผนการบรรเลงดนตรีทั้งวงป้าดก๊อง (วงปี่พาทย์ล้านนา) และมีการขับซอในช่วงกลางวันที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ภายหลังจากงานอินทขีลเมืองเชียงใหม่ 7 วัน จึงจะมีพิธีบูชาบรรพกษัตริย์ล้านนา หรืองานประเพณีเดือน 9 เหนือ ที่หอหลักเมืองเชียงใหม่ แจ่งศรีภูมิด้านใน ตามประวัติกล่าวว่า เป็นงานบวงสรวงดวงวิญญาณของเจ้าเมืองทั้งหมดล้านนา รวมถึงเป็นงานเลี้ยงขอบคุณเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่มาร่วมในงานอินทขีลเมืองเชียงใหม่
ในแง่ของร่างทรงนั้น หอนี้ถือเป็นหอสำคัญของเมือง ม้าขี่(ร่างทรง) จะต้องฟ้อนที่นี่อย่างน้อยครั้งหนึ่ง เรียกว่าการ “ออกหลัก” เสมือนการเข้ามารายงานตัวและการเข้ามารายงานเรื่องราวข่าวสารจากที่ต่าง ๆ ทั้งในเมือง นอกเมืองให้เจ้าผู้ครองนครฟัง โดยได้มีการสืบสานแนวการปฏิบัตินี้มาจนถึงปัจจุบัน (สรุปความจากเพจประเพณีสืบสาน หลักเมืองเชียงใหม่)
ด้วยการที่เป็น “พิธีบูชาบรรพกษัตริย์ล้านนา” นี้เอง การใช้ดนตรีในพิธีกรรมดังกล่าวจึงต้องเป็นเครื่องดนตรีที่แสดงถึงสถานะของชนชั้น อันเป็นเครื่องแสดงถึงสถานะทางสังคมในแง่หนึ่ง จากภาพถ่ายเก่าของนายคาคิจิ ยากี ช่างถ่ายภาพชาวญี่ปุ่นเมืองเชียงใหม่ในอดีตราว 100 ปีก่อน ช่วยให้เห็นภาพของดนตรีในพิธีกรรมดังกล่าวได้ชัดเจนมากขึ้น แม้จะเป็นภาพถ่ายในพิธีบูชาสี่ทิศช่วงเดือนสี่เหนือที่หอเจ้าพ่อหลักเมืองที่เเจ่งศรีภูมิ แต่ก็สะท้อนถึง “สถานะ” ของ “ผีเมือง” ที่เข้าทรงและความสำคัญของหอผีนี้ได้เป็นอย่างดี

ภาพถ่ายโบราณแสดงให้เห็นหอไม้ยกพื้น และที่หน้าหอมี “กลองสะบัดชัย” วางอยู่โดยมีเสาคล้ายเสาเพนียดคล้องช้างค้ำยัน หรือ “หลักช้าง-หลักม้า” กลองสะบัดชัยนี้มีกลองแม่และกลองลูกตุบ 2 ใบอยู่ด้านขวามือ ชวนให้ทุกท่านพิจารณาโดยละเอียด ที่ขอบกลองนั้นเป็นกลองที่ตอกตรึงด้วยหมุด (รูปแบบเดียวกับกลองปู่จา) มิใช่ทำหูหิ่งแล้วเรียดด้วยหนัง
แสดงให้เห็นว่าการตอกตรึงด้วยหมุดนี้เป็นพัฒนาการเก่าก่อน และพัฒนาเป็นเรียดหนังเมื่อเราต้องการเสียงที่แตกต่างกันและถ่วงหน้าเพื่อความไพเราะ แน่นอนว่าเป็นคนละกลองสะบัดชัยแบบที่เรียกกันปัจจุบันเพราะเพิ่งจะมีการพัฒนาโดยพ่อครูคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติเมื่อไม่กี่ทศวรรษนี้เอง

ลักษณะกลองสะบัดชัยนี้ มีรูปแบบเดียวกันกับกลองสะบัดชัยทำด้วยสำริด ขุดพบในเจดีย์ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ คราวที่มีการสร้างเขื่อนภูมิพล อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 คือราว 500 ปีมาแล้ว
ในหัวข้อ “เครื่องดนตรีในสงคราม” จากหนังสือประวัติดนตรีล้านนา ของสงกรานต์ สมจันทร์ ได้ยกตัวอย่างคำว่า “กลองสะบัดชัย” จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เช่น เหตุการณ์การแย่งชิงราชสมบัติของขุนเครือ พระอนุชาของพญาไชยสงคราม ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงการใช้เครื่องดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของ “กลศึก” ความว่า
“…เจ้าพ่อน้ำท่วมแต่งพลเสิกอันชื่อว่าราชปัญญา แต่งอุบายหื้อคนเอาเครื่องเสิกใส่หาบเหมือนดังจักมารั้งเมื่อนั้นหื้อเขายัดอยู่ยังประตูเวียงชู่แห่ง พร่องแต่งหื้อแวดเวียงทังมวลหื้อรอดเป็นดังเสิกจักมาล้อมเวียงนั้น พร่องแต่งหื้อระวังคุ้มน้อยหื้อรอดชุเบื้องชุพาย คันพ่อท้าวน้ำท่วมเข้าเวียงได้ก็หื้อเคาะฆ้องโย้ง ตีกลองสะบัดไชย โห่ร้องเนียงนันมากนัก…” (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค. วัยอาจ, 2547, หน้า 57)
จะเห็นได้ว่า กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่มีบทบาทสำคัญในอดีตและมีนามอันเป็นมงคล พระนคร ปญฺญาวชิโร (2555) ได้อธิบายว่า สะบัดชัย มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี ๒ ศัพท์ ได้แก่ “สปตฺต” แปลว่า ข้าศึก คู่แข่ง คู่วิวาท และ “ชย” แปลว่า ความชนะ หรือการมีชัย เมื่อนำคำศัพท์ทั้งสองมาสนธิกันเป็น “สปตฺตชย” ภายหลังแผลงเป็น “สะปัตต์ชัย” “สะบัตต์ชัย” และ “สะบัตชัย” จนสุดท้ายกลายเป็น “สะบัดชัย” หรือ “สะบัดไชย”


ดังนั้น การมีอยู่ของกลองสะบัดชัยในพิธีกรรมที่หอเจ้าพ่อหลักเมืองเชียงใหม่ที่แจ่งศรีภูมินั้น จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและระดับของผีเมืองได้เป็นอย่างดี
รวมถึงภาพของ “วงป้าดก๊อง” ที่บรรเลงกับพื้นโดยมีเจ้าพ่อหลักเมืองร่ายรำอยู่ด้านซ้ายมือ โดยที่วงป้าดก๊องนี้ เป็นวงดนตรีสำคัญที่เดิมเป็น “ของหน้าหมู่” หรือชุมชนมีส่วนร่วมในการบรรเลง มีวัดเป็นสถานที่ฝึกซ้อมและเรียนรู้ มีวิธีการเรียนที่ซับซ้อนกว่าความเป็นพื้นบ้าน รวมถึงบทเพลงต่าง ๆ ที่มีระเบียบแบบแผนเฉพาะอีกด้วย
จึงเป็นจารีตที่ว่า การเลี้ยงผีสำคัญโดยเฉพาะระดับเมือง หรือผีเจ้านายที่เป็นอดีตกษัตริย์/ขุนนางหรือทหารต่าง ๆ นั้น จะบรรเลงด้วยวงป้าดก๊อง รวมถึงผีเม็งและผีมดที่มีความซับซ้อนของพิธีกรรมด้วย โดยที่ผีเจ้านายบางแห่ง จะใช้วงดนตรีอย่างสะล้อ ซอ ซึง ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นชุมชนหมู่บ้านในอีกรูปแบบหนึ่ง

ดังนั้น ในวันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2568 ที่จะถึงนี้ จะมีการจัดงานประเพณีบูชาบรรพกษัตริย์ (งานเดือน 9) พิธีเริ่มโดยประมาณ 06.30 น. ทุกท่านสามารถมาร่วมไหว้สาสักการะได้จนถึงเวลา 15.00 น. ครับ
เรื่องโดย: สงกรานต์ สมจันทร์

บรรณานุกรม
นคร ปญฺญาวชิโร, พระ. (2555). กลองสะบัดชัย: ศิลปะการแสดงล้านนา. เชียงใหม่: โครงการศูนย์ศึกษา พระพุทธศาสนาประเทศเพื่อนบ้าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่.
ประเพณีสืบสาน หลักเมืองเชียงใหม่ . (2562). วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2568 ที่จะถึงนี้จะมีการจัดงานประเพณีบูชาบรรพกษัตริย์ [Status update]. Facebook. https://www.facebook.com/photo?fbid=1014792270843746
ศูนย์ใบลานศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. (2562). กลองสะบัดชัย ฟ้อนเจิง ช่างปี่-ช่างซอ และผามซอ มันมีคู่กับงานใส่ขันดอกอินทขีล [Status update]. Facebook. https://www.facebook.com/photo?fbid=2341156809277282&set=a.414778645248451
สงกรานต์ สมจันทร์. (2563). ประวัติดนตรีล้านนา (พิมพ์ครั้งที่ 2). เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, และ เดวิด เค. วัยอาจ. (2547). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์ม.
ผู้จัดทำข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านดนตรีและนาฏศิลป์ล้านนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่