ဝေဇယန္တာ “เหว่ซ่ะหยั่นดา” และเพลงม่านมุยเซียงตาของล้านนา

หากจะกล่าวถึงผลงานนาฏศิลป์ ดนตรีที่สำคัญของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีแล้ว อาจกล่าวได้ว่า เพลงม่านมุยเซียงตาและฟ้อนม่านมุยเซียงตา น่าจะเป็นผลงานสำคัญที่สุดแห่งยุค (Masterpiece) เพราะมีการถ่ายทอด ศึกษาเรียนรู้ตลอดจนเผยแพร่และคลี่คลายมาจนถึงปัจจุบัน มีการแสดงม่านมุยเซียงตาครั้งแรกหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2469 (พ.ศ. 2470 ตามระบบปัจจุบัน)

เพลงนี้ในภาษาพม่าเรียกว่า “เหว่ซะยันดาโยดะยา” หรือ “เวชยันตาโยดะยา” เป็นหนึ่งในชุดเพลงโยเดียหรือโยดะยาของดนตรีพม่า กล่าวกันว่าได้รับมาจากราชสำนักอยุธยา นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 อาทิเช่นในช่วงสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง เดิมคือ “เหว่ย เสี่ยนต่า” ตรงกับภาษาไทยว่า “เวชยันตะ” หรือ “เวชยันต์” อันเป็นชื่อวิมานของพระอินทร์ การฟ้อน “เหว่ยเสี่ยนต่า” แผลงมาเป็น “มุยเซียงตา” หมายถึง การเริงระบำรำฟ้อนของพระอินทร์นั่นเอง

สำหรับประวัติความเป็นมาของเพลงนี้ในราชสำนักล้านนานั้น พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงเห็นว่าการฟ้อนรำซ้ำซาก จึงอยากทรงเปลี่ยนแปลงให้แปลกตาบ้าง มีพระประสงค์ให้ตัวระบำพม่ามาแสดงทอดพระเนตร ถ้าเหมาะก็จะทรงดัดแปลงมาผสมรำไทยเป็นพม่ากลายสักชุด ได้รับสั่งให้เจ้าจันทรังษี (น้องสาวเจ้าทิพวรรณ กฤษดากร) ซึ่งเป็นภรรยาของพ่อค้าไม้ในพม่าให้หาตัวระบำมาถวาย เจ้าจันทรังษีหาได้ชาย 1 หญิง 1 มาแสดงถวายทอดพระเนตร จึงทรงรับไว้เป็นครูฝึกอยู่ระยะหนึ่ง ทรงเห็นว่าท่ารำของชายไม่ค่อยจะน่าดูนัก จึงรับสั่งให้ครูหญิงแสดงท่ารำของระบำพม่าที่แสดงในที่รโหฐานของกษัตริย์พม่าให้ทอดพระเนตรก็พอพระทัย จึงได้ทรงดัดแปลงท่ารำมาเป็นระบำผีเสื้อก่อน ใช้บทเพลงและเนื้อร้องพม่าตามเดิม โดยครูผู้ทำดนตรีจากพม่าให้เป็นไทย คือ ครูรอด อักษรทับ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 เสด็จเยือนมณฑลพายัพ และได้เสด็จมาเสวยพระกระยาหารเย็นที่ในวังพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จึงได้ทรงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดผีเสื้อมาเป็นชุดระบำในที่รโหฐานแสดงถวาย โดยใช้ภาพในหนังสือละครร้องเรื่อง “พระเจ้าสีป้อ” ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์เป็นแบบอย่าง การแสดงฟ้อนม่านมุ้ยเซียงตาถวายทอดพระเนตร ในครั้งนั้นผู้แสดง 16 คน เป็น ณ เชียงใหม่ทั้งหมด และใช้เวลานานมาก ท่ารำก็ซ้ำกันหลายตอน

ฟ้อนม่านมุยเซียงตา ณ วังเจดีย์กิ่ว ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี มกราคม พ.ศ. 2469

สำหรับการกระจายของเพลงม่านมุ้ยเซียงตาจากคุ้มเชียงใหม่ไปสู่กรุงเทพฯ นั้น ครูสำราญ เกิดผล ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2548 กล่าวว่า เพลงม่านมุยเซียงตาเริ่มมาบรรเลงในกรุงเทพฯ คราวที่ครูสงัด และครูลมุล ยมะคุปต์ได้กลับมาจากการสอนดนตรีและนาฏศิลป์ในวังของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี (ก่อน พ.ศ. 2476) ตามมาด้วยครูช่อและครูฉัตร สุนทรวาทิน (ราว พ.ศ. 2484) โดยได้ไปต่อเพลงที่วงดนตรีของนายสังเวียน เกิดผล บ้านใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบ้านพาทยโกศลตามลำดับ

ปัจจุบัน เพลงม่านมุยเซียงตายังคงมีการสืบทอดและมีการแสดงอยู่เนืองๆ เนื่องด้วยการแสดงนี้ได้บรรจุในหลักสูตรของวิทยาลัยนาฏศิลปด้วย โดยเฉพาะวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ที่มักจัดให้มีการแสดงนี้ในโอกาสสำคัญๆ อีกทั้งยังมีการสืบทอดในลักษณะของเพลงแห่ที่บรรเลงโดยวงพาทย์ค้อง โดยเฉพาะคณะเชียงยืน

นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาเพลงม่านมุยเซียงตา โดยเฉพาะท่อน 5 มาใช้เป็นทำนองเพลงลูกทุ่งหลายเพลง ซึ่งเป็นลักษณะความคลี่คลายของเพลงนี้นับตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ได้แก่ เพลงเชียงใหม่ คำร้องและทำนองโดยครูไสล ไกรเลิศ ขับร้องโดยนริศ อารีย์ บันทึกแผ่นเสียงเมื่อ พ.ศ. 2496 เพลงซากรักของจันทราคำร้องและทำนองโดยครูศักดิ์ เกิดศิริ ขับร้องโดยแน่งน้อย สงวนรักษ์ เมื่อ พ.ศ. 2502 เพลงอดีตรัก ขับร้องโดยไพรวัลย์ ลูกเพชร เพลงน้ำตาหล่นบนที่นอน คำร้องและทำนองโดยดาว บ้านดอน ขับร้องคนแรกโดยบานเย็น รากแก่น ต่อมามีนักร้องอีกหลายท่านนำไปขับร้องใหม่ เช่น ฮันนี่ ศรีอีสาน และต่าย อรทัย เพลงซึงสุดท้าย ขับร้องโดย จรัล มโนเพ็ชร เพลงตาต่อตาฟันต่อฟัน ขับร้องโดย คัฑลียา มารศรี เป็นต้น

รายละเอียด อ่านได้จาก

1. ฟ้อนม่านมุยเซียงตา : อิทธิพลนาฏกรรมพม่าในสังคมไทย โดย อ.สิทธิพร เนตรนิยม
https://so06.tci-thaijo.org/index.php/thaikhadijournal/article/view/198011/137886

2. ดนตรีล้านนาบางบท โดย สงกรานต์ สมจันทร์
https://lannamusic.org/?p=1907

ฟังเพลง ဝေဇယန္တာ “เหว่ซ่ะหยั่นดา" ของพม่า หรือต้นเค้าของเพลงม่านมุยเซียงตา
การบรรเลงวง "ป้าดก๊อง" หรือวงปี่พาทย์ล้านนา และ "ป้าดไวง์" (ပတ်ဝိုင်း) ของดนตรีพม่า ในบทเพลงม่านมุยเซียงตา หรือเพลงเหว่ซ่ะหยั่นดา (ဝေဇယန္တာ)

ผู้จัดทำข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงกรานต์ สมจันทร์

หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *